Reference from : https://content.collacreate.com/2021/06/11/%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84/
อลูมิเนียมในงานก่อสร้างหรือตกแต่งบ้านมีการใช้งานมาอย่างยาวนาน ซึ่งสีอลูมิเนียมที่เราเห็นส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาเงิน แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถทำสีอลูมิเนียมได้หลากหลายมากขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัส และความเงา เพื่อสร้างเอกลักษณ์ในการออกแบบและตอบโจทย์ความต้องการใช้งานด้วยสีสันและความหลากหลาย แต่การเลือกสีผิวและพื้นผิวให้เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านความคงทนหรือความสวยงาม โดยในปัจจุบันมีกระบวนการทำสีอลูมิเนียมที่นิยมใช้อยู่ 3 กระบวนการ ดังต่อไปนี้
1.ANODIZE (การชุบสี)
การชุบอะโนไดซ์เป็นการสร้างชั้น Aluminium Oxide (อลูมิเนียมออกไซด์) ขึ้นมาบนชั้นผิวอลูมิเนียมโดยผ่านกระบวนการทางไฟฟ้าเคมี ทำให้ชิ้นงานมีผิวสวยงาม แข็งแรงทนทานต่อรอยขีดข่วน และสามารถทำสีสันต่างๆได้โดยที่ยังคงความสวยงามตามธรรมชาติของอลูมิเนียมเอาไว้ คุณสมบัติที่โดดเด่นคือไม่มีปัญหาเรื่องสีลอกเพราะเป็นการเติมเนื้อสีเข้าไปในรูพรุนที่เกิดจากระบวนการสร้างชั้น Aluminium Oxide แล้วทำการปิดผิวอีกครั้ง ทำให้เนื้อสีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานจึงมีความทนทานมาก การชุบอะโนไดซ์มีอยู่ 3 วิธีซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้

- Electrodeposition (ED) เป็นการทำสีผิวอลูมิเนียมโดยการเติมเนื้อสีเข้าไปในชั้นอลูมิเนียมออกไซด์ด้วยประจุไฟฟ้าแล้วปิดผิวด้วยการเคลือบใส (Clear Coat) คล้ายกับเคลือบแล็กเกอร์ และใช้เนื้อสีแบบ Inorganic หรือเนื้อสีแบบโลหะที่มีความทนทานต่อแสงแดดทำให้สีไม่ซีดจาง ซึ่งการเคลือบใสหลังการชุบ Anodize จะทำให้ผิวอลูมิเนียมมีความเงางาม แต่เกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย ในอดีตได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีเพียงประเทศญี่ปุ่นที่ยังนิยมใช้วิธีการนี้อยู่

- Dyeing (การย้อมสี) เป็นการใช้เนื้อสีประเภท Organic หรือสีจากธรรมชาติ โดยอลูมิเนียมจะดูดซึมเนื้อสีเข้าไปในรูพรุนและทำการปิดผิวด้วย Aluminium Oxide มีลักษณะคล้ายการย้อมผ้า เป็นวิธีชุบอะโนไดซ์ที่สามารถทำสีสันได้หลากหลายกว่าวิธีอื่น แต่ด้วยความที่ใช้เนื้อสีเป็นสีธรรมชาติ ทำให้เมื่อโดนแสงแดดสีจะซีดจางได้ง่ายจึงเหมาะสำหรับงานตกแต่งภายในบ้านมากกว่าภายนอก

- Electrolytic Coloring (การทำสีด้วยระบบไฟฟ้า) คือการเติมเนื้อสีที่เป็นแบบโลหะด้วยประจุไฟฟ้า ทำให้สีมีความทนทานไม่ซีดจางตลอดการใช้งาน ส่วนการปิดด้วย Aluminium Oxide ยิ่งทำให้สีชุบประเภทนี้มีความทนทานต่อแสงแดดและทนทานต่อรอยขีดข่วน เป็นวิธีชุบอะโนไดซ์ที่มีสีสัน ทนทานที่สุดและได้รับความนิยมที่สุด โดยความทนทานจะขึ้นอยู่กับความหนาของชั้นอลูมิเนียมซึ่งสามารถเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ดังนี้
5 ไมครอน – สำหรับการป้องกันผิวชิ้นงานก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ เช่น การปั้ม การตัด เจาะ เป็นต้น
10 ไมครอน – เหมาะกับสภาพอากาศภายในอาคารปกติ เช่น ฉากระแนงกั้นระหว่างห้อง งานตกแต่งฝ้า เป็นต้น
15 ไมครอน – การตกแต่งภายในหรือภายนอกที่ต้องการทนต่อการขีดข่วนสูง
20 ไมครอน – ตึกอาคารที่อยู่ใกล้มลพิษสูง หรือการคมนาคมที่ต้องการทนแรงขีดข่วนสูงขึ้น เช่น หน้าต่างอาคารสูง
25 ไมครอน – สภาพอากาศที่ต้องทนต่อการกัดกร่อนหรือแรงขีดข่วนสูง เช่น การใช้งานในพื้นที่ใกล้ทะเล

การเลือกใช้ : การใช้ในงานตกแต่งภายในหรือภายนอกบ้านของการชุบ Anodize ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบ Electrolytic Coloring ที่สามารถเลือกความหนาของชั้นอลูมิเนียมตามความเหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนความทนทานของผิวในรูปแบบ Electrodeposition (ED) อาจมีรอยขีดข่วนได้ง่าย การใช้งานควรนำมาใช้ในส่วนที่ไม่มีการสัมผัสมากหรือใช้งาบ่อย เช่น การนำมาตกแต่งฝ้าเพดานสูง เป็นต้น และรูปแบบ Dyeing (การย้อมสี) เมื่อโดนแดดแล้วสีจะซีดจางจึงเหมาะสำหรับงานตกแต่งภายในบ้าน
นอกจากนี้เราสามารถสังเกตกระบวนการการทำสี Anodize ได้จากผิวสัมผัสบนอลูมิเนียม เพราะเมื่อนำมาทำสีแล้วจะยังคงความเป็น Metallic ของอลูมิเนียม เหมาะกับงานสไตล์ลอฟท์หรืออินดัสเทรียลที่เน้นการโชว์พื้นผิววัสดุ ที่เห็นโครงสร้างของคาน เสา เหล็กโผล่ ดูดิบ เท่ และเรียบง่าย แต่อาจจะไม่เหมาะกับงานสไตล์คลาสิค ที่ต้องการผิวสัมผัสเรียบ ละเอียดอ่อน และมีความพิถีพิถันในการตกแต่ง

2.PAINTING (การเคลือบสี)
มีลักษณะเป็นการเคลือบหรือทาสีบนผิวอลูมิเนียมหลายๆชั้น แล้วจึงทำการอบด้วยอุณหภูมิสูงทำให้เกิดเป็นชั้นฟิล์มเคลือบผิววัสดุ ที่ทำให้มีความคงทนต่อสภาพอากาศ แสงแดด หรือกันรอยกระแทก ในเรื่องของสีสามารถเลือกทำสีได้ไม่จำกัดตามรูปแบบดีไซน์ที่ต้องการแต่อาจต้องพิจารณาในเรื่องปริมาณขั้นต่ำในการผลิตของผู้ผลิตแต่ละราย ประเภทของสีที่ใช้ในกระบวนการนี้อยู่ 2 แบบ ได้แก่

- สีน้ำ PVDF (Polyvinylidene Fluoride Coating) เป็นการผสมสารเคมี PVDF ,เม็ดสี และสารยึดเกาะ เข้าด้วยกันแล้วนำมาพ่นเคลือบเป็นชั้นบางๆ หลายชั้นบนผิวอลูมิเนียมทำให้มีความแข็งแรงทนทาน คงทนต่อสารเคมีกับรังสียูวีและคงทนต่อสภาพอากาศ ทำให้มีความแข็งแรงทนทานยาวนาน จึงทำให้ PVDF เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับงานภายนอก แต่มีราคาสูงกว่าการพ่นแบบอื่นเนื่องจากต้องมีการพ่นหลายชั้น
- สีพ่น Powder Coat เป็นการใช้สีฝุ่นในการพ่นลงผิวอลูมิเนียมโดยใช้ประจุไฟฟ้าช่วยให้ตัวสียึดเกาะกับอลูมิเนียม แล้วอบด้วยความร้อนเพื่อให้มีความทนทานมากขึ้นเช่นเดียวกับการทำสีรถยนต์ บ่อยครั้งเราจึงได้ยินช่างอลูมิเนียมเรียกว่าสีอบ เช่น อบขาว อบดำ เป็นต้น การพ่นแบบ Powder Coat เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในการทำสีแบบ PAINTING เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสีน้ำ PVDF รวมถึงมีราคาที่ย่อมเยากว่าและมีความคงทนเทียบเท่ากับสีน้ำ PVDF นอกจากนี้ยังสามารถทำสีได้หลากหลายตามความต้องการหรือตามระบบ RAL เฉดสีที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก และยังเพิ่มลูกเล่นให้กับสีด้วยพื้นผิวได้อีกด้วย เช่น ผิวเงา ผิวด้าน ผิวซาฮาร่า เป็นต้น สีพ่นนี้มีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น ทำให้สีไม่แตกเมื่อได้รับแรงกระแทกหรือบิดงออย่างรุนแรง ป้องกันการกัดกร่อนและรังสียูวี ซึ่งการพ่นสีควรมีความหนา 60-80 ไมครอน จึงจะทนแรงขีดข่วนได้ตามมาตรฐานสากล

การเลือกใช้ : เป็นรูปแบบการทำสีอลูมิเนียมที่ตอบโจทย์กับงานออกแบบเป็นอย่างมากเพราะสามารถ ทำสีได้หลากหลายทำให้โทนสีในงานตกแต่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถใช้กับงานตกแต่งได้หลากหลายสไตล์ รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงทนใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก โดยทำได้ทั้งเฟรมอลูมิเนียมบานประตูหน้าต่าง หรือประยุกต์ใช้ในงานตกแต่งต่างๆ


3.SPECIAL SURFACE ( พื้นผิวแบบพิเศษ )
เป็นการทำสีปิดผิวอลูมิเนียมให้มีพื้นผิวที่แตกต่างจากรูปแบบอื่นๆ ด้วยการผสมผสานเทคนิคต่างๆให้เกิดลวดลายที่แปลกใหม่ให้กับงานออกแบบ โดยลวดลายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือการทำอลูมิเนียมลายไม้ ซึ่งมีเทคนิคการทำหลายวิธีดังต่อไปนี้
- Transfer Film การพิมพ์ลายไม้ลงบนแผ่นฟิล์มแล้วนำมาสกรีนลงอลูมิเนียมที่พ่นสีพื้นไว้โดยการใช้ความร้อนลักษณะเหมือนการสกรีนเสื้อ เนื่องจากเป็นเทคนิคแบบพิมพ์ลายจึงทำลวดลายออกมาได้ละเอียดและสามารถพิมพ์ลวดลายได้ตามต้องการ แต่ความคงทนของสีจะคล้ายกับการย้อมเสื้อผ้า เมื่อโดนแดดนานสักระยะหนึ่งลายที่พิมพ์จะซีดจางจึงไม่เหมาะกับงานภายนอก ซึ่งหากด้านใดโดนแดดมากๆสีจะซีดก่อนดังภาพกรอบหน้าต่างที่เดิมเป็นสีเดียวกันแต่ฝั่งด้านนอกโดนแดดมากกว่าสีจึงซีดกว่า

- Film Laminate มีลักษณะเหมือนการแปะแผ่นวีเนียร์ หรือลามิเนตลงบนพื้นผิวอลูมิเนียม โดยใช้กาวแบบพิเศษ คล้ายกับการติดสติ๊กเกอร์ สามารถทำรูปแบบสีสันได้หลากหลายตามต้องการ แต่ความคงทนไม่เท่ากับวิธีอื่นด้วยความเป็นกาวจึงมีโอกาสที่กาวจะเสื่อมสภาพและทำให้ลายไม้หลุดลอกได้ ไม่ทนแดดและฝน จึงเหมาะกับงานตกแต่งภายใน

- Double Powder Coating คือเทคโนโลยีการทำสีลายไม้แบบใหม่ ที่ใช้การพ่นสีฝุ่น(Powder Coat) สองชั้นบนผิวอลูมิเนียม โดยเริ่มจากการพ่นสีพื้นก่อน แล้วจึงพ่นทับอีกชั้นหนึ่งผ่านแม่พิมพ์ด้วยสีที่ต่างจากสีพื้นทำให้เกิดลวดลายนูนขึ้นมา ด้วยกระบวนการผลิตที่เหมือนกับการพ่นสีฝุ่นจึงมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความทนทานเหมือนกับการพ่นสีฝุ่นเช่นกัน คือมีความทนทานต่อแสงแดดและรังสียูวี ทนน้ำทนฝน สีไม่ซีดจาง ไม่หลุดลอกได้ง่าย ในปัจจุบันถือเป็นเทคโนโลยีการทำสีลายไม้ที่ทนทานที่สุดในโลก จึงนิยมใช้ทำเป็นอลูมิเนียมลายไม้สำหรับงานภายนอกอาคาร

การเลือกใช้ : อลูมิเนียมลายไม้เป็นตัวเลือกอีกวิธีที่สามารถช่วยทดแทนไม้จริงได้และยังมีความแข็งแรงทนทาน ดูแลรักษาง่าย ในเรื่องความเหมาะสมการใช้งานจะขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ในการทำพื้นผิว หากต้องการให้มีลวดลายชัดเจนและหลากหลายสามารถใช้เป็น Transfer Film หรือ Film Laminate เหมาะกับงานภายในเพราะเมื่อโดนแดดจะทำให้สีซีด เช่น งานระแนงกั้นระหว่างห้อง แต่ถ้าต้องการนำไปใช้ทั้งภายในและภายนอกที่ต้องมีการสัมผัสกับน้ำและแสงแดด การใช้ Double Powder Coating จะเหมาะสมกว่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ผิวสัมผัสใกล้เคียงกับไม้จริงมีความทนทาน เหมาะกับการนำไปทำฟาซาดนอกอาคาร รั้วบ้าน ประตู ราวกันตก หรือฉากกั้นราวบันได


และนี้คือข้อมูลที่สรุปรูปแบบการทำสีอลูมิเนียมจะเห็นได้ว่าแต่ละรูปแบบจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน บางรูปแบบสามารถทำลวดลายได้หลากหลายแต่ไม่คงทนต่อสภาพอากาศจึงเหมาะกับงานตกแต่งภายใน และบางรูปแบบมีความคงทนทำได้หลากหลายสามารถเลือกได้จากสีหรือเนื้อผิวสัมผัสที่ต้องการ ดังนั้นการเลือกใช้กระบวนการทำสีอลูมิเนียมควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อความคงทน และความสวยงามของงานตกแต่ง หากท่านใดสนใจการทำสีอลูมิเนียมของบริษัท อลูเม็ท จำกัด สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 082 880 9668 , ติดต่อทางLine : @alumet_pro , Facebook : alumetgroup หรือสนใจดูตัวอย่างผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมอื่นๆได้ที่ www.alumetgroup.com
บทความ : คุณสุทธิกานต์ ชั่งภู Designer at Studio3c
ที่ปรึกษา : คุณชวนะ ช่างสุพรรณ Designer Director at Studio3c